โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียหรือที่เรียกตามอาการว่า โรคคอบวม เป็นโรคระบาดรุนแรง ของกระบือ

ASPRUMSTORY #50

แหล่งความรู้ด้านสัตว์เคี้ยวเอื้องโดยเอเอสพีรูมิแนนท์

โดย : นาย ศราวุธ หมั่นถนอม ฝ่ายขายและวิชาการทางด้านสัตว์เคี้ยวเอื้อง เอเอสพีรูมิแนนท์ ในเครือเวทโปรดักส์
โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียหรือที่เรียกตามอาการว่า โรคคอบวม เป็นโรคระบาดรุนแรง ของกระบือ แต่โรคนี้จะมีความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น โค แกะ สุกร ม้า อูฐ กวาง และช้าง เป็นต้น โรคนี้ไม่เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ลักษณะสําคัญของโรค คือ สัตว์จะหายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอหรือหน้าบวม แข็ง อัตราการป่วยและอัตราการตายสูง เชื้อชนิดนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้โดยที่สัตว์ไม่แสดงอาการป่วยแต่เมื่อมีภาวะทําให้สัตว์เครียด สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกมาสู่สิ่งแวดล้อม สาเหตุและการแพร่ระบาด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ พาสทูเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella multocida) พบในประเทศต่างๆ ของเอเชียและแอฟริกาเป็นส่วนมาก การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นได้ง่ายในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ตอนฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป ในสภาวะความเครียดเช่นนี้สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อ (Carrier) จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำเมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่เข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้ และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่าย ต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทําให้โรคแพร่ระบาดต่อไป เชื้อนี้จะมีชีวิตอยู่ในแปลงหญ้าอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะได้นานถึง 1 เดือน ระยะฟักตัว โดยเฉลี่ย 2-5 วัน แต่บางครั้งเชื้อที่มีความรุนแรงมาก ระยะฟักโรคอาจจะเร็ว 1-2 วัน

อาการที่พบได้

  1. แบบเฉียบพลันมาก ( Para acute) สัตว์ที่เป็นโรคจะมีอาการซึม ไข้สูง 40-42 องศาเซลเซียส น้ำลายไหลและตายภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  2. แบบเฉียบพลัน (Acute) จะสังเกตเห็นอาการทางระบบหายใจ คือ อ้าปากหายใจ หายใจหอบลึก ยืดคอไปข้างหน้า หายใจมีเสียงดัง ลิ้นบวมจุกปาก หน้า คอ หรือบริเวณหน้าอกจะบวมแข็งร้อน ต่อมา จะมีอาการเสียดท้อง ท้องอืด อุจจาระมีมูกเลือดปน สัตว์จะตาย ภายใน 2-3 วัน
  3. แบบเรื้อรัง ( Chronic) สัตว์ป่วยจะมีชีวิตได้นาน 3-4 เดือนและจะมีสุขภาพทรุดโทรมและมีโรคแทรกซ้อน

รอยโรคที่พบได้
เมื่อเปิดผ่าซากสัตว์จะพบสารลักษณะคล้ายวุ้นแทรกอยู่ระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณที่บวม มีจุดเลือดออกที่ต่อมน้ำเหลืองและหัวใจ ปอดจะมีเลือดคั่ง หรือถ้าเป็นเรื้อรังจะพบเยื่อหุ้มปอดหนาตัวขึ้น เนื้อปอดแข็ง ภายในหลอดลมมีของเหลวปนฟองอากาศ ตับคั่งเลือดบวมขยายใหญ่ ลําไส้อักเสบ ต่อมน้ำเหลือง บวมขยายใหญ่

การตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคนอกจากสังเกตอาการ รอยโรค และศึกษาประวัติสัตว์ป่วยแล้ว การตรวจหาเชื้อจาก ตัวอย่างต่างๆ เป็นสิ่งจําเป็นที่ต้องทําควบคู่กันซึ่งกระทําได้ดังนี้คือ

  1. ตรวจหาเชื้อขณะสัตว์มีชีวิต โดยจะพบเชื้อในกระแสเลือดได้ในขณะที่สัตว์มีไข้สูง ดังนั้นจึงควรเก็บเลือดจากสัตว์ป่วยส่งห้องปฏิบัติการ
  2. ตรวจหาเชื้อจากซากสัตว์โดยเปิดผ่าซาก พร้อมทั้งบันทึกรอยโรคที่ตรวจพบ แล้วเก็บอวัยวะ ต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ไต และลําไส้แยกกันใส่ถุงพลาสติกแช่เย็นส่ง ตรวจยังห้องปฏิบัติการ

การป้องกันโรค

  1. ฉีดวัคซีนเชื้อตายชนิดสื่อในน้ำมันให้โค และกระบือ อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ สามารถคุมโรคได้นาน 1 ปี
  2. ให้ความรู้เกษตรกรในการเฝ้าระวังโรคทางอาการในสัตว์เลี้ยงของตนเอง และสัตว์ในหมู่บ้าน รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายรับแจ้งโรค

แหล่งที่มา : ส่วนโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

กดเพิ่มเพื่อ “ASP Ruminant” official account เพื่อสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์และติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงการสัตว์เคี้ยวเอื้อง ผ่านทางลิงค์นี้ค่ะ https://lin.ee/Z8tJPWD

คอบวม

ASPRuminant

ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์และสารเสริมในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า