SOP ก่อนการระบาด ASF รู้ทัน รู้จริง ทำจริง ป้องกันได้!!!
SOP (Standard Operation Procedure) คือระเบียบการปฎิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อมาปรับใช้ในการทำงานในฟาร์มให้ได้เป็นมาตรฐาน ซึ่งก่อนการระบาดของโรค ASF มีเรื่องที่ต้องพิจารณาในการทำ SOP ให้ได้ประสิทธิภาพ 4 เรื่องคือ
- การจัดทำระบบป้องกันโรค (Biosecurity) ต้องเป็นระบบที่เข้มข้น มีประสิทธิภาพจริง และตรวจสอบได้
- การปรับปรุงโครงสร้างฟาร์ม (Renovate) เพื่อให้สัมพันธ์กับการทำระบบ Biosecurity
- การจัดทำระเบียบปฎิบัติงาน (Standard Operation Procedure ; SOP) และขั้นตอนการปฎิบัติงาน (Work instruction ; WI) ให้สอดคล้องกับระบบ Biosecurity พร้อมทั้งสื่อสารให้ผู้ปฎิบัติงานในฟาร์มทุกคนรับทราบถึงการปฎิบัติงานและเข้าใจขั้นตอนต่างๆเหมือนกันทุกคน ทุกระดับ
- การเฝ้าระวังโรคโดยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ เพื่อให้ “รู้เร็ว รู้ก่อน จัดการไว” ทำให้เราจัดการได้อย่างทันท่วงทีเมื่อโรคเกิดขึ้น
Biosecurity ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ คน, รถ, อาหาร, น้ำ, สุกร, ของเสีย, สัตว์พาหะ, ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงน้ำเชื้อของสุกร เนื่องจากเป็นโอกาสที่จะทำให้มีเชื้อโรค ASF ภายนอกปนเปื้อนเข้ามาในฟาร์ม สิ่งที่สำคัญมากคือการเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ มีผลการรับรองจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือว่าสามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้จริงเท่านั้น
การปรับปรุงโครงสร้างฟาร์ม (renovate) เพื่อให้ปฎิบัติงานตาม Biosecurity อย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง เช่น ประตูทางเข้าฟาร์มต้องปรับปรุงให้คน, รถ ไม่ผ่านเข้าฟาร์มโดยตรง ต้องหยุดเพื่อตรวจคัดกรอง (screening) เชื้อ ASF ไม่ให้หลุดเข้ามาในฟาร์ม การปรับปรุงโครงสร้างมากน้อยขึ้นกับระบบการเลี้ยงสุกรเดิม สำหรับโรงเรือนสุกรระบบปิด (Evaporative cooling system) มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่าโรงเรือนสุกรระบบเปิด การปรับปรุงโครงสร้างโรงเรือนจะต้องป้องกันสัตว์พาหะต่างๆได้ อาจใช้มุ้งหรือตาข่าย รอบฟาร์มควรมีรั้วรอบฟาร์ม เป็นลักษณะรั้วทึบซึ่งป้องกัน คน และสัตว์พาหะจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม ควรติดตั้งระบบสเปรย์ยาฆ่าเชื้อ รถ, คน และอุปกรณ์ต่างๆที่จะเข้าฟาร์ม กำหนดจุดฆ่าเชื้อให้ชัดเจนทั้ง ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นในของฟาร์ม โรงเรือนขายสุกรเป็นสถานที่สำคัญมากต้องปรับปรุงให้เหมาะสม ควรมีจุดขายสุกรอยู่ภายนอก และห่างจากฟาร์ม ถ้าฟาร์มมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ภายนอกฟาร์ม ต้องทำจุดฆ่าเชื้อ ณ จุดขายสุกร โดยรถที่จะมารับสุกรจะต้องถูกฆ่าเชื้อทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการขายสุกรบริเวณหน้าฟาร์มเพราะจะควบคุมยาก การปรับโครงสร้างภายในโรงเรือน คอก และซองเลี้ยงสุกร ควรปรับให้ลดการสัมผัสระหว่างตัวสุกร เช่นทำผนังทึบ เลี้ยงสุกรในคอกหนึ่งๆน้อยลง ซองยืนอาจมีการพิจารณาเอาแม่สุกรออกเพื่อให้เกิดช่องว่างลดการสัมผัส เช่น 10 แม่ เว้น 1 ซอง หรือ 5 แม่ เว้น 1 ซอง รวมถึงรางอาหารปรับเป็นรายตัวได้จะดีมาก
การเริ่มต้นทำ SOP นั้นไม่ยากอย่างที่คิด ทีมวิชาการ iTAC ในเครือ Vet products group มีการทำ SOP ต้นแบบไว้ แต่เนื่องจากแต่ละฟาร์มมีทรัพยากรและข้อจำกัดที่ต่างกัน เพื่อให้ SOP มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับฟาร์มสูงสุด ฟาร์มสุกรที่สนใจทำ SOP สามารถนัดหมายทีมวิชาการ iTAC เข้าไปปรับ SOP ให้เหมาะสมกับฟาร์ม เพื่อให้ SOP ที่จัดทำมีประสิทธิภาพและป้องกันโรคในฟาร์มได้จริง
#ทีมวิชาการ iTAC ในเครือ Vet products group