ASPRUMSTORY #51
แหล่งความรู้ทางด้านสัตว์เคี้ยวเอื้องโดยเอเอสพีรูมิแนนท์
ตอน “โรคไข้ขาแข็ง วิธีการควบคุมและป้องกันอย่างไร “
โดย : สพ.ญ.ฉัฐญาภรณ์ เพิ่มทรัพย์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ด้านสัตว์เคี้ยวเอื้อง เอเอสพี รูมิแนนท์ ในเครือเวทโปรดักส์
รับมือกับโรคไข้ขาแข็งในโค กระบือ
“โรคไข้สามวัน หรือ ไข้ขาแข็ง” เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน เกิดจากติดเชื้อไวรัส bovine ephemeral fever virus ผ่านทางแมลงดูดเลือด ในโค กระบือสามารถติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ อัตราป่วยอาจสูงถึง 80% แต่อัตราตายต่ำ 1–2% ภายหลังการป่วยสัตว์จะมีภูมิคุ้มกันในระยะยาว
สัตว์ป่วยจะมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีน้ำมูก น้ำลายไหล น้ำนมลดฉับพลัน พบกล้ามเนื้อสั่น ตัวแข็ง ขาแข็ง ไม่อยากลุกเดิน ระหว่างนี้สัตว์จะอ่อนแอเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยทั่วไปภายหลังมีอาการประมาณ 3 วัน สัตว์จะเริ่มกลับมากินอาหาร ลุกเดินได้ แต่หากป่วยรุนแรงก็อาจล้มนอนนานมากกว่า 1 อาทิตย์ได้
สัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมาก พ่อพันธุ์หรือโคให้นมมากมักแสดงอาการป่วยล้มนอนและใช้เวลานานในการฟื้นตัว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงที่จะตรวจตราหาสัตว์ป่วยให้ไว เพื่อพิจารณารักษาได้ทัน ร่วมกับช่วยบำรุงฟื้นฟูร่างกายสัตว์ต่อไปในอนาคต
หลักการรักษา
ให้การรักษาตามอาการ โดยเน้นการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ประเมินสภาพสัตว์ประกอบการรักษา
- ยากลุ่มลดไข้ อักเสบ (NSAID)
- กลุ่มยาปฏิชีวนะ ลดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย
- สารน้ำ อาจพิจารณาให้เพื่อชดเชยการขาดน้ำ ร่วมกับให้ยาบำรุงเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
- สารเสริมภูมิคุ้มกันในอาหาร สามารถเสริมให้ในช่วงที่สัตว์เริ่มกลับมากินอาหาร ช่วยลดภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายและช่วยในการฟื้นตัว
การดูแลสัตว์ในช่วงป่วย
• ช่วงแรกที่สัตว์ล้มนอนให้จัดหาน้ำสะอาด อาหาร-หญ้าสด ให้สัตว์และเปลี่ยนใหม่ทุกวัน
• ช่วงที่มีการล้มนอน ลุกยาก ให้ปูด้วยวัสดุรองนอน เช่น ฟาง แผ่นยาง เพื่อลดการกดทับ
• กายภาพโดยใช้รอกพยุงสัตว์ให้ลุกยืน และพลิกตัวสัตว์วันละหลายๆครั้ง จะช่วยให้เลือดหมุนเวียน ลดการกดทับ ลดการเกร็งของข้อขา
• ระวังการนอนแผ่ข้างใดข้างหนึ่งนานเกินไป จะทำให้หายใจลำบากและระวังการกรอกน้ำ-ยาทางปาก อาจสำลักลงปอดเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้
การควบคุมและป้องกัน
• ทำโปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคไข้ขาแข็ง
• กำจัดแหล่งน้ำขังและมูลสะสมภายในคอก เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์พาหะ ร่วมกับการกำจัดแมลงพาหะโดยตรง
กดเพิ่มเพื่อ “ASP Ruminant” official account เพื่อสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์และติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงการสัตว์เคี้ยวเอื้อง ผ่านทางลิงค์นี้ค่ะ https://lin.ee/Z8tJPWD